"การแต่งกายบ่งบอกวิถีชีวิต"
ก่อนอื่นขอกล่าวทักทายด้วยคำว่า "อัสลามมูอาลัยกุม" เป็นคำทักทายภาษามลายู แปลว่า "ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน" เทียบได้กับคำทักทายในภาษาไทยว่า "สวัสดี" สำหรับวันนี้ผู้เขียนมีสาระดี ๆ มานำเสนอให้คุณผู้อ่านได้รับรู้กันนะคะ สาระดี ๆ ที่ว่านี้ก็คือ "Kain Lepas" อ่านว่า "ผ้าลือปัส" ผ้าสารพัดประโยชน์ของคนมลายูในสมัยก่อน และปัจจุบันผ้าชนิดนี้ได้กลายเป็นแฟชั่นการแต่งกายของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่สวมใส่ได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง กลายเป็นอินเทรนด์ใหม่ที่มีความสวยงาม อ่อนช้อย บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นมลายู
สารพัดประโยชน์จากผ้าลือปัส เช่น
1. สวมใส่ในเวลาที่กำลังทำงาน เช่น ใช้ผ้าลือปัสคาดเอวในขณะที่ทำนา ทำไร่ และทำสวน
2. สวมใส่ในเวลาที่นั่งผักผ่อนตอนเย็น ๆ ในขณะที่กำลังคุยกันภายในครอบครัวหรือสังสรรค์กับเพื่อน เช่น พาดผ้าลือปัสไว้ที่หัวไหล่หรือโพกหัวไว้เพื่อความสวยงาม
3. ผ้าชนิดนี้ใช้ได้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีกรรมการเข้าซูนัตหรือที่เรียกว่า "มาโสะ ยาวี" หมายถึง "การตัดหนังหุ้ม ปลายอวัยวะสืบพันธ์ุเพศชาย" นิยมใช้ผ้าลือปัสในการสวมใส่หลังจากที่ได้เข้าพิธีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะผ้าชนิดนี้มีความบางและแห้งเร็ว สะดวกต่อตัวเด็กที่เพิ่งเข้าพิธีกรรมนี้ พิธีกรรมแต่งงาน เช่น ใช้ผ้าชนิดนี้โพกหัวไว้ในขณะที่มีการโชว์การแสดงต่าง ๆ ในงานแต่งงาน
- ใช้สำหรับอุ้มทารก ในสมัยก่อนผ้าชนิดนี้เปรียบได้กับเป้อุ้มเด็กที่มีอยู่ในสมัยปัจจุบัน
- ใช้สำหรับใส่ผลไม้ เช่น นำผ้าชนิดนี้ผูกไว้ตรงหัวมุม ทำลักษณะคล้าย ๆ กระเป๋าหิ้ว แล้วนำไปใส่ผลไม้ในขณะที่เข้าสวน
- สำหรับผู้หญิงจะใช้ผ้าชนิดนี้สวมใส่บนศรีษะเพื่อปกปิดร่างกาย เปรียบได้กับผ้าปัจจุบันที่เรียกว่า "ผ้าคลุม" นั่นเอง
ผ้าลือปัสจึงเป็นที่นิยมอีกครั้ง กลายเป็นว่าผู้คนต่างตามหาผ้าชนิดนี้ มีชมรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนมลายูเห็นถึงความสำคัญของผ้าลือปัส และนำมาประยุกต์ใช้อีกครั้ง เพื่อรักษาตัวตนความเป็นมลายูของตนเอง ปัจจุบันผ้าลือปัสมีราคาไม่เกิน 1,000 บาทต่อผืน คนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ นิยมสะสมผ้าชนิดนี้เพราะเห็นว่าเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และเห็นคุณค่าของผ้าชนิดนี้ ทุกคนต่างกังวล กลัวว่า "วันหนึ่งผ้าชนิดนี้จะหายไปจากโลก"